ถ้าถ่ายรูปด้วยกล้อง iPhone ส่วนตัวไม่ได้ปรับโหมดอะไรให้ยุ่งยากเลย ก็ถ่ายออโต้ธรรมดาๆ แต่ในเชิงเทคนิคจะเน้นที่การคุมโทนสีและเล่นกับแสงมากกว่า
สำหรับโพสต์นี้จะขอพูดแบบสรุปๆก่อนแล้วกัน ถ้ามีเวลาเดี๋ยวมาอธิบายแบบเจอาะลึกทีละประเด็นๆภายหลัง
1. คิดคอนเซป
ก่อนถ่ายรูปจะต้องมีคอนเซป หรือเป้าหมายของการถ่ายก่อน ทุกคนก็ต้องมีคอนเซปในหัวกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะ “ชัดเจน” มากน้อยแค่ไหน
แบบง่ายๆก็ เช่น วินเทจ สตรีท สดใส ดาร์ก ฯลฯ
แต่ละแนวมันเป็นแบบไหน ไม่รู้ก็ต้องไปศึกษาเพิ่มนะ ง่ายๆดูรูปถ่ายให้มากๆ หาดูคนที่เขาถ่ายภาพเป็น “อัลบั้ม”
2. คุมโทนสี
หลังจากได้คอนเซปแล้ว ก็จะคุมโทนสีด้วยการเลือก “เสื้อผ้า” ให้กับนางแบบ และ “สถานที่” สองอย่างนี้จะต้องสัมพันธ์กัน
ชุดที่ให้ใส่ไม่ได้หรูหราอะไร สั่งออนไลน์บ้าง ตลาดบ้าง มีงบสัก 300 บาท ก็ได้ชุดสวยๆมาถ่ายรูปแล้ว
เช่น
คุมโทนส้มฟ้า
คุมโทนขาวเขียวส้ม
คุมโทนขาวม่วง
ส่วนตัวจะให้ความสำคัญกับเรื่องของเสื้อผ้ามากๆ แต่สถานที่ก็สำคัญ มันต้องเข้ากันกับชุด ภาพก็จะออกมาตามคอนเซปที่คิดไว้
สรุป คิดคอนเซปก่อน เลือกสถานที่ถ่ายภาพ แล้วหาเสื้อผ้ามาให้แบบใส่ตามคอนเซป
3. ถ่ายออโต้
เวลาถ่ายรูปไม่ได้ตั้งค่าอะไรเลย อย่างมากก็แค่ปรับระยะเลนส์ ถ้าใช้ iPhone 11 Pro จะมีสามระยะ กว้างพิเศษ กว้างปกติ และเทเล
และส่วนใหญ่จะถ่ายมุมกว้างปกติ เพราะให้ภาพคมชัดสุด
นี่เป็นภาพถ่ายแบบง่ายๆ ใช้โหมดอัตโนมัติ ภาพที่ได้จะเป็นไฟล์ JPG แล้วเอาไปแต่งต่อใน Lightroom
ปล. ยกเว้นการถ่ายภาพกลางคืน จะใช้โหมดโปรในแอพ Lightroom เพื่อบันทึกรูปเป็นไฟล์ RAW
4. ถ่ายโหมดพอร์ทเทรต
บางชอตที่เน้นละลายหลังก็จะใช้โหมดพอร์ทเทรต
เทคนิคก็คือ
- ถ้าแบบอยู่ไกล้ฉากหลัง จะไม่เลือกฉากหลังที่ซับซ้อน
- แต่ถ้าฉากหลังอยู่ไกลจากแบบ จะไม่มีปัญหา
แต่มือถือก็ยังเป็นมือถือ การละลายหลังมาจากซอฟแวร์ ฉะนั้นบางจุดมันจะไม่เนียน ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน
กล้อง iPhone มันจะทำละลายหลังได้แบบประมาณหนึ่ง ถ้าอยากได้โบเก้สวยๆ แนะนำแอพ Focos จะทำให้โบเก้ในภาพลูกกลมโตดูสวยขึ้น
5. ถ่ายตอนเย็น
เลือกเวลาถ่ายภาพตอนเย็นๆ จะได้แสงที่สวย ถ่ายง่าย อากาศไม่ร้อน เวลาถ่ายจะรู้สึกสบายและสนุกไปกับการถ่ายภาพ
6. ถ่ายย้อนแสง
อันนี้ถือเป็นรสนิยมส่วนตัว แทบทุกงานจะต้องการถ่ายย้อนแสง ผมถึงชอบการถ่ายรูปตอนเย็น
ซึ่งก็เหมือนเดิม การถ่ายย้อนแสงไม่ต้องตั้งค่าอะไร แค่เลือกเวลาถ่ายที่ดี และถ่ายรูปในช่วงแสงอ่อนๆ
ถ้าถ่ายย้อนแสงตอนบ่าย หรือในช่วงแดดแรงๆ หน้าจะดำ และแก้รูปได้ยาก ฉะนั้นการเลือกช่วงเวลาถ่ายรูปสำคัญมากๆกับภาพที่จะได้
7. วางมุมถ่ายภาพ
ไม่ใช่ว่าถ่ายที่ไหนก็จะได้ภาพเหมือนกันหมด รอบตัวเรามี 360 องศา แต่ความคิดคนเราต่างกัน ภาพก็เลยออกมาไม่เหมือนกัน
ผมจะเน้น “การคุมโทน” ดังนั้นสีสันของภาพในเซ็ตนั้น ต้องไม่หลุดจากกัน
เช่น ถ้ากำหนดโทนสีเป็น เขียวกับส้ม ก็จะพยายามหามุมถ่ายที่เป็นเขียวกับส้ม อย่างเช่น ต้นไม้กับแสงแดด สองอย่างนี้รวมกันเป็นเขียวกับส้ม
นอกนั้นก็ใช้ความรู้พื้นฐานมาผสมกัน
เช่น
- วางแบบไว้ที่เส้นจุดตัด
- กฏสามส่วน
- ไม่ถ่ายตัดมือ ข้อแขน
- ฯลฯ
พวกนี้เป็นอะไรที่เบสิคมากๆ ก็ไปหาดูได้จากหนังสือสอนถ่ายภาพพื้นฐาน หรือคลิป YouTube คนก็ทำไว้เยอะอยู่นะ
สรุป
ส่วนตัวไม่ได้จริงจังกับการตั้งค่าถ่ายรูป เน้นว่าจะถ่ายอะไรมากกว่า จะทำภาพให้ออกมาแบบไหน โทนสีจะเป็นยังไง อะไรทำนองนี้
สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือการ “เลือกมุมถ่ายภาพ” ต้องเลือกตามคอนเซปและการคุมโทนที่คิดไว้แต่ตอนแรก
สุดท้ายก็ขอย้ำว่านี่เป็น “เทคนิคส่วนตัว” ใครจะถ่ายยังไงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนกัน